THAI REAL ESTATE
BUSINESS SCHOOL
Eng
Thai
ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี 58-59
ดูทั้งหมด Post: 14 ธันวาคม 2015
Share via
   

 

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดอุดรธานีค่อนข้างซบเซา การขายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อยมีไม่ถึง 1,000 หน่วย ทั้งที่แทบไม่มีโครงการเปิดตัวใหม่ คาดว่าสถานการณ์จะซึมยาวแม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นก็ตาม โดยคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อใกล้การเลือกตั้ง

         จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่พื้นฐานด้านการเกษตรเป็นหลักและมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการเติบโตขึ้นตามลำดับรวมทั้งเป็นศูนย์กลางการค้ากับประเทศลาว จึงทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 ปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจดูชะลอลง ประกอบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ยังไม่มีความแน่นอนในการก่อสร้างจึงส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าแม้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 6% จะสูงกว่าการเจริญเติบโตในระดับประเทศ แต่ก็ลดต่ำลงกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก

         ในด้านจำนวนประชากรจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นน้อยมากปีละประมาณ 0.6-0.8% แสดงว่ายังไม่มีการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในจังหวัดอุดรธานีอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามจำนวนที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มอย่างผิดปกติ โดยในปี 2556 และ 2557 ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 4.6% ต่อปี ในขณะนี้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ต่อปี ด้วยเหตุนี้จำนวนประชากรต่อครัวเรือนจึงลดลง โดยในปี 2548 ครัวเรือนหนึ่งมีประชากร 3.9 คน และขณะนี้น่าจะมีอยู่เพียง 3.2 คน โดยนัยนี้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยจึงไม่มีในจังหวัดอุดรธานี

         จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่าในจังหวัดอุดรธานีมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด 73 โครงการ จำนวนหน่วยทั้งหมด 9,886 หน่วย ขณะนี้ยังเหลือหน่วยขายอยู่ 2,400 หน่วย เฉลี่ยแล้วราคาหน่วยละ 2.574 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาในเฉลี่ยในเขตกรุงเทพมหานครที่ขายในราคาสูงถึง 3.877 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว 47% ห้องชุด 39% ทาวน์เฮ้าส์ 7% นอกนั้นเป็นบ้านแฝด ตึกแถว และที่ดินจัดสรร การที่มีบ้านเดี่ยวจำนวนมากแสดงว่ายังเป็นเมืองแบบเดิมที่เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ ส่วนการเพิ่มขึ้นของห้องชุดพึ่งปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งกระแสการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

         หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าในทำเลกุดสระ-หนองบัว เป็นพื้นที่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยมากที่สุดโดยมีรวม 36 โครงการ มีหน่วยขาย 52% ของทั้งหมด ทำเลที่สองคือบ้านจั่น-นาดี ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินมีที่อยู่อาศัย 23 โครงการมีหน่วยขายรวมกันประมาณ 24% ของทั้งหมด ส่วนทำเลที่สามบ้านเลื่อม-เชียงพิณ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือมีจำนวนโครงการน้อยที่สุด 14 โครงการ หน่วยขายรวมกันประมาณ 23% ของทั้งหมด

         ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาทั้งจังหวัดขายได้ประมาณ 866 หน่วย รวมมูลค่าที่ขายได้ 2,715 ล้านบาทซึ่งถือว่าขายได้ค่อนข้างช้า ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อน กรณีนี้ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาการล้นตลาด เพราะรอบ 1 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่เลยแต่เป็นเพราะเศรษฐกิจถดถอยลง โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร

         คาดว่าในปี 2559 ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุดรธานียังคงจะคล้ายคลึงกับปี 2558 แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและพยายามก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคงต้องดูความเป็นไปได้ในรายละเอียดต่อไป แต่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในปี 2560 ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะยังความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนภายในประเทศ ในระหว่างนี้ผู้ประกอบการสมควรจะพยายามในการระบายสินค้าให้ได้เร็วที่สุด เพื่อความสำเร็จในการพัฒนาโครงการ

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ร่วมจัดสัมมนาและนำเสนอผลการสำรวจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดอุดรธานี ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล ในระหว่างเวลา 13.00-17.00 น. AREA แถลงฉบับนี้จึงนำเสนอรายงานผลวิจัยที่นำเสนอโดยดร.โสภณ

 

Tags: เริ่มต้นลงทุน ,อสังหาริมทรัพย์อุดรธานี อสังหาฯ