THAI REAL ESTATE
BUSINESS SCHOOL
Eng
Thai
โรงงานเหล็กสหวิริยา ในมุมมองผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน
ดูทั้งหมด Post: 30 กันยายน 2015
Share via
   

 

       กรณีปัญหาโรงงานหล็กของสหวิริยาในอังกฤษ อาจเป็นกรณีศึกษาถึงการประเมินมูลค่ากิจการที่ไม่ได้ศึกษาให้ครบถ้วนครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ เป็นบทเรียนที่ควรศึกษา
       ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI แถลงว่า บริษัทได้ประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวที่โรงงานเอสเอสไอทีไซต์ ที่ดำเนินการโดยสหวิริยาสตีลอินดัสตรียูเค หรือ SSI UK ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดย SSI อยู่ระหว่างรอผลการหารือกับรัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนได้เสียในการร่วมมือลดต้นทุนการผลิต และหยุดผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก โดยได้เริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนปี 2555 และขายทั่วโลก แต่ด้วยภาวะตลาดเหล็กที่ล้นความต้องการอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเปิดใหม่ได้หรือไม่ หรืออาจปิดกิจการอย่างถาวร


โรงงาน SSI steelworks ที่เมือง Teesside สหราชอาณาจักร (จาก http://bit.ly/1PvNwII)

           ทั้งนี้ตามข่าวกล่าว่า ยอดหนี้รวมมีมูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท เป็นหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ 22,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 22,000 ล้านบาท และธนาคารทิสโก้ 4,400 ล้านบาท แต่ละธนาคารสำรองเงินสินเชื่อให้แก่ SSI อย่างครบถ้วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว ส่วนพนักงานที่ประเทศอังกฤษ มีประมาณ 2,000 คน บริษัทอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับรัฐบาลอังกฤษสหภาพแรงงาน และตัวแทนพนักงาน ในการชดเชย และดูแลพนักงาน (http://bit.ly/1NQtQjL)



ที่มา: http://steelbenchmarker.com/files/history.pdf

           ต่อเหตุการณ์ข้างต้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน เห็นว่า ในการประเมินมูลค่าทางธุรกิจก่อนการซื้อนั้นอาจไม่ได้ดำเนินการด้วยข้อมูลที่เพียงพอหรือไม่ โดยจะสังเกตได้ว่า ราคาเหล็กเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 แล้ว (http://bit.ly/1OsjusS) การเข้าซื้อกิจการที่อาจไม่ได้ศึกษาให้ดี โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ซื้อมาก็ดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอดตามคำสัมภาษณ์ของ Mr Louwrens ผู้บริหาร SSI UK ยิ่งกว่านั้นยังรับพนักงานมาเกือบ 2,000 คนจากที่คาดหวังไว้ตอนแรกไม่เกิน 1,800 คน (http://bit.ly/1LBHpn2)

           ในการศึกษาเพื่อการอำนวยสินเชื่อธุรกิจประเภทนี้ในต่างประเทศ ในอนาคตหลังจากกรณีศึกษาราคาแพงนี้ สถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อยังต้องติดตามสถานการณ์การตลาดและการขายของเหล็กของวิสาหกิจที่ได้รับการอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และตัดสินใจในการอำนวยสินเชื่อได้อย่างทันท่วงที

           อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมเหล็กของอังกฤษ ก็ยังมีผู้มีส่วนร่วมจากอินเดีย เช่น TATA ซึ่งยังยืนหยัดอยู่ได้ กรณีนี้อาจแสดงถึงการคาดการณ์อนาคตที่ไม่ชัดเจน ทำให้เข้าซื้อกิจการในราคาที่สูงเกินไปก็ได้ ทำให้มีหนี้สินในขณะนี้มากกว่า 900 ล้านปอนด์ หรือราว 60,000 ล้านบาท (http://bit.ly/1KGh3fi) แต่โดยที่อุตสาหกรรมเหล็กอังกฤษเจอพายุใหญ่ในด้านการตัดราคา ทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังรอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษในการเจรจาปัญหาสงครามราคา ซึ่งส่งผลให้ราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก

       โดยสรุปแล้วการซื้อกิจการมาแล้วทำขาดทุนทุกปีสุดท้ายต้องปิดโรงงานจ่ายเงินชดเชยพนักงานที่ทำงานมานานถึง 2,000 คนอีกต่างหาก แสดงว่า หากดำเนินการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถ้วนถี่กว่านี้ตั้งแต่แรก (ไม่ว่าจะดำเนินการโดยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอิสระหรือแม้แต่สถาบันการเงินหรือผู้ลงทุนเอง) ก็อาจสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็คงไม่ซื้อในราคาดังกล่าว

Tags : ประเมินค่าทรัพย์สิน , ประเมินราคา